แนะนำตัว

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554



การขับรถยนต์ให้ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง
        ในวันที่น้ำมันเชื้อเพลิงมีการขึ้นราคาอย่างต่อเนื่องทั่วโลกเช่นนี้ หากเราไม่สามารถ
หยุดหรือเลิกใช้น้ำมันได้ การประหยัดคงเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ให้เราได้
สบายใจสบายเงินในกระเป๋ากันมากขึ้น การขับรถที่คุณใช้อยู่นั้นก็มีวิธีขับ
ที่ช่วยประหยัดน้ำมัน ได้ง่ายๆ ดังนี้

1. ขณะสตาร์ทรถ ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ ไฟหน้ารถ และเครื่องเสียง
จะทำให้เครื่องยนต์ทำงานหนักขึ้น เปลืองน้ำมัน 10%

2. ไม่อุ่นเครื่องยนต์ก่อนขับเคลื่อนตัวรถ เพียงขับเคลื่อนรถเบาๆ 1-2 ก.ม.
เครื่องยนต์จะอุ่นเอง ไม่จำเป็นต้องอุ่นเครื่องยนต์แล้วจอดอยู่กับที่ เพราะการติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ 2 นาที สิ้นเปลืองน้ำมัน 40 ซีซี.

3. ไม่เบิ้ล ไม่บิดเครื่องยนต์ การเบิ้ลเครื่องยนต์ ขณะเกียร์ว่าง 10 ครั้ง ส่งผลให้
รถจักรยานยนต์ สิ้นเปลืองน้ำมัน 15 ซีซี., รถปิคอัพ รถตู้ รถแวน สิ้นเปลืองน้ำมัน
100 ซีซี. และรถบรรทุก สิ้นเปลืองน้ำมัน 300 ซีซี.

4. ขับรถระยะไกล ด้วยความเร็วคงที่ และไม่เกินป้ายจำกัดความเร็ว
อัตราความเร็วรถที่เหมาะสมที่จะประหยัดน้ำมันได้มากที่สุดคือ 60 - 80 ก.ม./ช.ม.
อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันในการขับรถยนต์ที่ความเร็วต่างๆ กัน เปรียบเทียบได้ดังนี้
- ความเร็ว 95 ก.ม./ช.ม. จะสิ้นเปลืองน้ำมั่นกว่า 80 ก.ม./ช.ม. ประมาณ 15%
- ความเร็ว 110 ก.ม./ช.ม. จะสิ้นเปลืองน้ำมั่นกว่า 80 ก.ม./ช.ม. ประมาณ 29%
- ความเร็ว 100 ก.ม./ช.ม. จะสิ้นเปลืองน้ำมั่นกว่า 90 ก.ม./ช.ม. ประมาณ 10%
- ความเร็ว 110 ก.ม./ช.ม. จะสิ้นเปลืองน้ำมั่นกว่า 90 ก.ม./ช.ม. ประมาณ 25%

5. ก่อนถึงไฟแดงชะลอความเร็วแต่เนิ่นๆ ด้วยการถอนคันเร่ง และค่อยเหยียบ
เบรก นอกจากจะช่วยประหยัดน้ำมันแล้วยังช่วยยืดอายุผ้าเบรก

6. ปิดเครื่องปรับอากาศก่อนถึงที่หมาย 2-3 นาที ประหยัดน้ำมันได้ 30 ซีซี. 

7. ขับ 91 เติม 91 เลือกเติมน้ำมันที่มีค่าออกเทนเหมาะสมกับเครื่องยนต์
การเติมน้ำมันออกเทน 95 ทั้งๆ ที่รถของคุณใช้ออกเทน 91 ได้ ทำให้คุณเสียเงินเพิ่ม
และไม่ช่วยให้เครื่องยนต์แรงขึ้น

8. สังเกตอาการผิดปกติของรถ ควันไอเสียมีสีดำ หรือขาวผิดปกติ เกิดจาก
การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ที่ไม่สมบูรณ์ มีผลให้สิ้นเปลืองน้ำมัน

9. ควรดับเครื่องยนต์ขณะจอดรถคอย เพราะการติดเครื่องยนต์จอดรถ
เป็นเวลา 5 นาที จะสิ้นเปลืองน้ำมัน 100 ซีซี.

10. เติมลมยางให้ถูกต้องตามกำหนด ถ้ายางอ่อนเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองน้ำมัน
เชื้อเพลิงมากขึ้น

นำมาฝากกันแค่เพียง 10 ข้อเท่านี้ และถ้าสนใจเกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน
ในด้านอื่น ติดตามอ่านได้ในคู่มือที่ลิงค์ไว้ด้านล่าง หรือหากต้องการทราบข่าวสาร
เกี่ยวกับพลังงานในประเทศไทยสามารถอ่านได้ที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (http://www.eppo.go.th)

ที่มา : 
- หนังสือ การขับรถ และงานบำรุงรักษารถยนตร์ 
โดย ศิระ บุญธรรมกุล และพงษ์ศักดิ์ บุญธรรมกุล
- คู่มือแข่งขันประหยัดน้ำมัน รวมพลังหยุดรถซดน้ำมัน
โดย ศูนย์อนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทย
- คู่มือประหยัดพลังงานเพื่อประชาชน โดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน
กระทรวงพลังงาน

   

วันศุกร์ที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เริ่มแรกมีรถเมล์ในประเทศไทย


        ปี พ.ศ. 2428 ประเทศไทยมีรถเทียมม้า ซึ่งเรียกกันว่า "รถเมล์" และวิ่งตามเส้นทางเรือเมล์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว แต่ให้บริการอยู่ประมาณ 2 ปี จึงเลิกกิจการเนื่องจากมีการนำรถรางเข้ามาใช้แล้ว

ปี พ.ศ. 2450 พระยาภักดีนรเศรษฐ หรือ นายเลิศ เศรษญบุตร เริ่มกิจการรถเมล์ขึ้นอีกครั้ง ให้บริการระหว่าง สะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึก) กับตลาดประตูน้ำ ซึ่งเป็นต้นทางเรือเมล์ของนายเลิศในคลองแสนแสบด้วย เส้นทางนี้ยังไม่มีรถราง กิจการรถเมล์จึงไปได้ดี

ปี พ.ศ. 2456 นายเลิศนำรถยี่ห้อฟอร์ดเข้ามาให้บริการ และขยายเส้นทางไปถึงบางลำพู ย่านการค้าที่สำคัญของยุคนั้น ขนาดของรถใกล้เคียงกับรถม้า มี 3 ล้อ มีที่นั่งเป็นม้ายาว 2 แถว และนั่งได้ประมาณ 10 คน ขณะวิ่งจะมีเสียงโกร่งกร่าง ผู้คนจึงเรียกกันว่า "อ้ายโกร่ง" แต่บางคนเรียกว่า "รถเมล์ขาวนายเลิศ" เนื่องจากตัวรถมีสีขาว และมีเครื่องหมายกากบาทสีแดงในวงกลม

ด้วยนโยบาย "สุภาพ ซื่อสัตย์ ประหยัด ทันใจ เอากำไรน้อย บริการผู้มีรายได้น้อย" ทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น กิจการก็เติบโตขึ้นด้วย จึงมีการพัฒนาเป็นรถ 4 ล้อ ที่ออกแบบขึ้นเอง มีที่นั่ง 2 แถวด้านข้าง ขยายเส้นทางออกไปอีกหลายสาย และมีผู้ประกอบการรายอื่นเพิ่มขึ้นมา รวมแล้วประมาณ 30 ราย ให้บริการไปทั่วกรุงเทพฯ ตัวรถเมล์มีทั้งสีแดง เหลือง และเขียว

ปี พ.ศ. 2497 เริ่มมีการจัดระเบียบรถเมล์ โดยรัฐบาลออก พ.ร.บ. ขนส่ง ควบคุมให้ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตก่อนทำกิจการรถเมล์

ปี พ.ศ. 2518 รัฐบาลสมัยของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (หม่อมน้อง) ให้รวมกิจการรถเมล์ในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทเดียวกัน คือ บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งอยู่รูปแบบของรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐและเอกชนถือหุ้นพอๆ กัน ต่อมาในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2519 รัฐบาลสมัยของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (หม่อมพี่) ได้ออกพระราชกฤษฎีการวมกิจการของ บริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เข้ากับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม


กิจการรถเมล์ขาวนายเลิศ ที่ดำเนินการมาเป็นเวลา 70 ปี ในขณะนั้นได้รับสัมปทานเดินรถ 36 สาย มีจำนวนรถ 700 คัน และมีพนักงานถึง 3,500 คน จึงเลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2520 โดยอู่รถเมล์ขาวนายเลิศเดิม ได้กลายเป็นสถานที่ตั้งของโรงแรมปาร์คนายเลิศ ณ ถนนวิทยุ ในปัจจุบันนั่นเอง
ที่มา : หนังสือ 100 แรกมีในสยาม โดย โรม บุนนาค, http://th.wikipedia.org/wiki/รถเมล์นายเลิศ

วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผ้าขนหนูลดปวดต้นคอ

ผ้าขนหนูลดปวดต้นคอ

    อาการปวดต้นคอ ที่อาจเกิดจากการอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งผิดท่า
ต้องก้ม-เงยหน้าเป็นเวลานาน หรือเกิดจากความเครียด มีวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้น
ซึ่งในหนังสือ New Choices in Natural Healing แนะนำให้ใช้ผ้าขนหนู
2 วิธีดังนี้

วิธีที่ 1 มีขั้นตอน คือ

- พับปลายผ้าขนหนูตามแนวยาวทั้งสองด้านเข้าหากันในตำแหน่งกึ่งกลางผ้า
- ม้วนปลายผ้าจากด้านซ้ายไปขวาตามแนวกว้าง
- นอนหงาย นำผ้าขนหนูที่ม้วนไว้มาหนุนคอ และเลื่อนขึ้นบน-ล่างของคอ เพื่อให้ผ้าขนหนูอยู่ในตำแหน่งที่สบายคอมากที่สุด
- นอนค้างไว้ในท่านั้นนาน 15-20 นาที

วิธีที่ 2 มีขั้นตอน คือ

- พับผ้าขนหนูตามแนวยาวเป็นสามทบ
- ถือปลายผ้าทั้งสองข้าง พาดส่วนกลางผืนไว้บริเวณท้ายทอย
- ออกแรงดึงปลายปลายผ้าทั้งสองข้างมาด้านหน้า และพยายามหงายศรีษะไปด้านหลังเพื่อต้านแรงดึงปลายผ้า
- ทำท่านี้ค้างไว้ 30 วินาที แล้วจึงผ่อนแรงโดยทำทั้งหมด 10 ครั้ง

อุปกรณ์ที่หาได้ง่ายอย่างผ้าขนหนู สามารถนำมาบรรเทาอาการปวดเมื่อยต้นคอ

ได้ง่ายๆ แต่ถ้าอาการปวดไม่ทุเลา ปวดเพิ่มมากขึ้น ปวดร้าวไปที่บริเวณอื่น
เช่น ไหล่ แขน โดยอาจมีอาการชา หรือกล้ามเนื้อมือหรือขาอ่อนแรงร่วมด้วย
ควรปรึกษาแพทย์ 
ที่มาภาพ : http://www.sxc.hu/photo/851318
ที่มา : ผ้าขนหนูลดปวดต้นคอ - นิตยสารชีวจิต ปีที่ 12 ฉบับ 1 ก.ย. 2553, ปวดต้นคอ ทำอย่างไร? (http://www.thaiclinic.com) โดย นพ.พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ