แนะนำตัว

วันเสาร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

คืนหมาหอนคืออะไร

     เปิดบันทึกคืนหมาหอนในประวัติศาสตร์ ที่ทั้งดังและโจ่งแจ้ง ผิดกับคืนหมาหอนในวันนี้ที่ซุ่มเงียบมาแบบเนียนๆ แต่กัดไม่ยอมปล่อย
 

     ในวันที่เทคโนโลยียังไม่ไล่ล่าและเขี้ยวเล็บทางการเมืองยังไม่ลากดิน  "คืนหมาหอน" ก่อนเลือกตั้งคือคืนที่หลายคนรอคอย

     โดยเฉพาะในพื้นที่แถวเชียงใหม่ มีเรื่องเล่าที่มาของคืนหมาหอนกัน ว่า สมัยที่ยังไม่มีกฎหมายเลือกตั้งเข้ามาควบคุมโดยตรง การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นไปอย่างคึกคัก หัวคะแนนแต่ละพรรคต่างเลือก "จ่าย" วันสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ไม่จ่ายก่อนเพราะกลัวพรรคอื่นเกทับ และไม่จ่ายหลังเพราะเข้าใจชาวบ้านดีว่า "เงินไม่มา กาไม่เป็น"  
 คืนนั้น หัวคะแนนพร้อมทีมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะออกเดินเข้าบ้านทุกหลัง ในบัญชีรับผิดชอบ สนนราคาเริ่มที่หัวละ 200-500 บาท แต่ละบ้านต่างพร้อมใจกันเปิดไฟ จิตใจจดจ่อรอการมาถึงของหัวคะแนน ผิดไปจากกิจวัตรเดิมที่นอนกันแต่หัวค่ำ และบรรยากาศคึกคักนี้เองทำให้หมาๆ ตื่นตัวส่งเสียงเห่เห่าหอนช่วยระวังภัยกันระงม จากบ้านหลังหนึ่งไปอีกหลังหนึ่ง ก่อนจะประสานเสียงขยายไปในระดับหมู่บ้านตลอดทั้งคืน 

ในคืนที่หมาเลิกหอน
 ป้าดำ (สงวนชื่อจริง)  ผู้เชี่ยวชาญการซื้อเสียงใน อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เล่าว่า สองสามวันก่อนคืนหมาหอนธนบัตร ใบละ 100 ถูกจัดเตรียมไว้พร้อม ก่อนที่หัวคะแนนจะนำไปแจกจ่ายให้กับแกนนำในแต่ละหมู่บ้าน เมื่อเงินถึงมือ แกนนำจะตรวจเช็คงบกับจำนวนรายชื่อผู้มีสิทธิในมือ แล้วตระเวนแจกจ่ายไปยังหัวคะแนนในระดับหมู่บ้าน

 การซื้อเสียงไม่ง่ายแค่จ่ายเงิน แต่ก่อนหน้านี้หัวคะแนนระดับชุมชน ต้องออกแรงเดินเคาะประตูเจรจากันก่อน แถมต้องทำการบ้านด้วยว่าบ้านไหนมีแนวโน้มเลือกพรรคใด เพราะหากเข้าผิดบ้านอาจเสียเงินฟรี
 "เรื่องนี้ต้องละเอียด เพราะถ้าจ่ายแล้วผลคะแนนที่ออกมาไม่เข้าเป้า หัวคะแนนอาจกลายเป็นเป้าเอง" ป้าดำบอก
 ทว่า หลังการเกิดของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ที่มาพร้อมกับกฏหมายเลือกตั้ง ที่ระบุความผิดและใบเหลืองใบแดง ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ง่ายเหมือนเคย  "คืนหมาหอน" จึงเริ่มหายไปจนกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า ส่วนหัวคะแนนอย่างป้าดำก็ต้องปรับตัวรับกับวิธีการใหม่ ๆ
 ในยุคปัจจุบันจึงไม่พบมีการตระเวนแจกเงินตามบ้านในคืนสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง หมาในหมู่บ้านจึงอยู่กันอย่างสงบ
 หากการซื้อเสียงในยุคนี้กลับแนบเนียนกว่าเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงใบเหลืองใบแดง วิธีการจึงไม่โฉ่งฉ่างและเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ
 วันนี้จึงมีทั้ง ดาวน์รถ  แจกเบี้ยประชุมนอกรอบให้กับผู้นำชุมชน การจ่ายเงินค่าเดินทางค่าอาหารให้กับผู้ร่วมประชุม การชุมนุม หรือ การปราศัยในเวทีต่าง ๆ ขณะที่การจ่ายเงินซื้อเสียงโดยตรงใช่จะหมดไปเสียทีเดียว แต่มีการนำยุทธศาสตร์และกลเม็ดทางธุรกิจมาใช้ในเกมการเมือง จนหลอมรวมกลายเป็น "ธุรกิจการเมือง" เต็มรูปแบบ
วิธีที่บรรดาหัวคะแนนเลือกใช้กันมากคือการลอกขั้นตอนรูปแบบของธุรกิจขาย ตรง มีการจ่ายเงินเป็นทอด ๆ แต่ละคนจะมีสมาชิก "ลูกข่าย" เป็นของตัวเอง ใครมีลูกข่ายมากก็ได้ "คอมมิชชั่น" มาก เม็ดเงินที่ใช้ในการซื้อเสียงจะถูกส่งเป็นทอดๆ จากหัวคะแนนรายใหญ่ระดับภาคลงมาถึงจังหวัด อำเภอ ตำบล ก่อนเข้าถึงระดับหมู่บ้าน ซับเอเยนต์แต่ละช่วงจะมีการตัดตอนไม่ให้สาวถึงกันและกัน ขณะที่ราคาค่ากาเบอร์ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็น 500 - 1,000 บาท ต่อหัว ส่วนการยื่นเงินมีทั้งแนบเอกสารแนะนำตัว แนบปฏิทิน แนบบัตรเชิญ ฯลฯ
  บรรดาผู้สมัคร ส.ส. หลายคนยังวางระบบรักษาฐานเสียงไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนยุบสภา โดยมีการจ่ายเงินแฝงไปในหลายโครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ ที่ถูกเรียกว่า "งบ ส.ส." ซึ่งมีความสลับซับซ้อนยากจะจับผิดได้ แถมด้วยเบี้ยประชุม อสม. อปพร. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
 อีกวิธีคือ การยึดบัตรประชาชน วิธีนี้จะถูกใช้ในกรณีที่มีความชัดเจนว่าพื้นที่ไหนไม่เลือกพรรคของตัวเอง พื้นที่ไหนที่อาจจ่ายเงินฟรี จะมีการจัดตั้งโครงการสารพัดโครงการด้วยความร่วมมือขององค์กรท้องถิ่นบาง แห่ง จากนั้นจะเชิญชวนให้ชาวบ้านสมัครเข้าร่วมโครงการและมีการขอบัตรประชาชนไว้ อ้างว่าจะนำไปถ่ายเอกสารและจะคืนให้ภายหลัง พร้อมสัญญาจะมีค่าเสียเวลาหรือค่าชดเชยในกรณีที่โครงการมีปัญหาภายหลัง  ซึ่งค่าเสียเวลาก็คือเงินซื้อเสียงนั่นเอง
 วิธีนี้ต้องทำก่อนหน้าวันเลือกตั้งเพียงสองถึงสามวัน โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ "เมื่อไม่มีบัตรประชาชน ก็ใช้สิทธิเลือกคู่แข่งไม่ได้"

"โรคร้อยเอ็ด" เข็ดไปอีกนาน
 สำหรับภาคอีสาน  "โรคร้อยเอ็ด" คือบาดแผลที่ฝังลึก ที่ทำให้คนเมืองร้อยเอ็ดเจ็บปวดทุกครั้งที่มีคนพูดถึง
อาจพูดได้ว่านี่คือปฐมบทแห่งการ "ทุ่มแหลก แจกไม่อั้น" เป็นหนึ่งในต้นตำรับของการซื้อเสียงในยุคประชาธิปไตยรุ่งเรือง ชนิดที่ว่าเมื่อฤดูเลือกตั้งเวียนมาคราวใด หลายคนมักจะล้อเลียนว่า "อย่าให้เป็นแบบโรคร้อยเอ็ดก็แล้วกัน"
 เรื่องเกิดขึ้นราวปี พ.ศ. 2500 ผู้สมัครคนหนึ่งทุ่มซื้อเสียงประชาชนในพื้นที่ด้วยเงินคนละ  1 บาท จนเข้าไปนั่งในสภาได้สำเร็จ
 ต่อมาในปี 2524 การเลือกตั้งที่จังหวัดแห่งนี้ยังคงมีการซื้อเสียงเช่นเดิม  โดยใช้เงินทุ่มซื้อมากเสียจนกลายเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆ เลียนแบบ
  ชาวร้อยเอ็ดอายุ 50 ปีขึ้นไป หลายคนจำได้ว่าการเลือกตั้งซ่อมในปีนั้น เกิดขึ้นหลังจาก ส.ส.ร้อยเอ็ด นายสมพร จุรีมาศ รองหัวหน้าพรรคสยามประชาธิปไตย เสียชีวิตลง และมีผู้สมัครชิงชัยตำแหน่ง ส.ส. ที่ว่างลงถึง 14 คน หนึ่งในนั้นคือ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์  หัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา  รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม อดีต รมช.มหาดไทย
 เล่ากันว่า ทีมงานหาเสียงของ “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ประกาศท้าทายว่า “นายพลแพ้ไม่ได้” มีการระดมกระสุนเงินตราจำนวนกว่า 30 ล้านบาทใช้หาเสียง แบ่งเป็นค่าโฆษณามากถึง 7 ล้านบาท ค่าที่พัก 4 แสนบาท ค่าเช่ายานพาหนะ 1.65 ล้านบาท ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง 4.5 แสนบาท ค่าใช้จ่ายหัวคะแนน 4.75 ล้านบาท ฯลฯ

  ขณะที่ “พ.ต.ท.บุญเลิศ” มีกองหนุนชั้นเยี่ยมอย่าง “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ” หัวหน้าพรรคกิจสังคม เดินทางมาช่วยหาเสียง โดยใช้นโยบายประชานิยมเป็นจุดขาย เดินสายแบบ “ทัวร์นกขมิ้น ค่ำไหนนอนนั่น” ทุกหมู่บ้าน ครั้งนั้น คาดว่าพรรคกิจสังคมใช้เงินลุยหาเสียงไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่วนผู้สมัครพรรคอื่นก็เปย์หนักไม่แพ้กัน
  ส่งผลให้การเลือกตั้งครั้งนั้นเศรษฐกิจของเมืองร้อยเอ็ด ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  โรงแรมเต็มทุกวันส่งผลให้ราคาห้องพักสูงขึ้นจาก 80 บาท เป็น 240 บาท สื่อมวลชนเดินทางมาทำข่าวกันชนิดไม่ขาดสาย รถโดยสารเต็มทุกเที่ยว รถสามล้อต้องคิดค่าบริการเพิ่มจาก 5 บาทเป็น 10 บาท ชาวบ้านมีอาชีพเสริมจากการรับจ้างปิดใบปลิว นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นว่า“ พ.ร.บ.เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ” ไม่มีความหมาย แม้จะมีการกำหนดไว้ว่า “ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้ไม่เกิน 3.5 แสนบาทต่อคน และห้ามใช้วิธีให้ทรัพย์หรือผลประโยชน์อื่นใดโดยทางตรงหรือทางอ้อม .... ” ก็ตาม แต่ก็ยังมีการทุ่มเงินซื้อเสียงกันชนิดหมดหน้าตัก
  และพอเปิดหีบเลือกตั้ง ผลปรากฎว่า “พล.อ.เกรียงศักด์” ชนะเลือกตั้งชนิดถล่มทลาย ไปด้วยคะแนนเสียง 70,812 คะแนน ขณะที่ “พ.ต.ท.บุญเลิศ ” ได้ 42,084 คะแนน ครั้งนั้น “พล.อ.เกรียงศักดิ์” ได้ทิ้งผลงานการเป็นส.ส.ร้อยเอ็ด ด้วยการขุดลอก“ บึงพลาญชัย ”และ“ขุดลอกคลองคูเมือง ” ซึ่งชาวร้อยเอ็ดเรียกติดปากมาจนถึงทุกวันนี้ว่า "คลองเกรียงศักดิ์"

  "อายนะ เป็นเรื่องไม่ดีที่ขายขี้หน้าเขาไปทั่วโลก สมัยนั้น แม่และพ่อก็เป็นหัวคะแนนให้ พล.อ.เกรียงศักดิ์เหมือนกัน เราไม่รู้หรอกว่า พ่อกับแม่ไปทำอะไร รู้แต่ว่า ไปเป็นคนช่วยหาเสียงให้อดีตนายกฯ แต่ละวันพ่อกับแม่ออกจากบ้านแต่เช้า และกลับเข้าบ้านตอนเย็น สีหน้ายิ้มกริ่ม จนในที่สุด พล.อ.เกรียงศักดิ์ได้เป็นส.ส.ร้อยเอ็ด จริงๆ แล้วคนร้อยเอ็ดดีใจมาก เพราะได้เลือก อดีตนายกฯให้ได้มาเป็นส.ส." หนึ่งในคนร้อยเอ็ดที่กำลังเติบโตในสายวิชาการคนหนึ่งบอก และ ทุกวันนี้ เขาคือคนหนึ่งที่เกลียดคำว่า "โรคร้อยเอ็ด"
  "ตอนนี้โรคร้อยเอ็ดมันไม่ได้อยู่เฉพาะร้อยเอ็ดแล้ว แต่มันระบาดไปทั่วประเทศ ชื่อมันก็ยังตามมากรีดแผลในใจชาวร้อยเอ็ดอยู่ วันนี้ถ้าไปถามคนร้อยเอ็ดว่า รู้สึกอย่างไรกับชื่อนี้ เขาทุกคนคงบอกว่า เกลียด และไม่ชอบ แต่ถ้าถามว่าเอาเงินมาให้เอาไหม ก็คงจะเอา แต่เอาแล้วจะเลือกหรือไม่ นั่นเป็นสิทธิของเขา แต่ผมเชื่อว่า คนร้อยเอ็ดไม่ได้โง่ เหมือนคนไทยทุกคนที่ไม่ได้โง่ ใครเอาเงินมาให้ก็เอา แต่เขาจะรู้เองว่า คนที่แจกเงิน กับคนที่ไม่แจกเงิน ใครจะเป็นคนดีกว่ากัน" นักวิชาการคนดังกล่าวบอก

แทง(หวย)ผู้แทน
 ช่วงทิ้งโค้งก่อนเข้าสู่ทางตรงในวาระเลือกตั้งทั้วไปคราวนี้ ยิ่งทำให้การพูดคุยของบรรดาคอการเมืองในสภากาแฟแห่งหนึ่งในแดนสะตอ ออกรสออกชาติมากกว่าปกติ ไม่ว่าจะเป็นการบลัฟของชาวบ้านที่ต่างถือหางข้างที่ให้การสนับสนุน ยังไม่นับการปั่นกระแสของบรรดา “หัวคะแนน” ที่ระดับเดซิเบลในการสนทนาจนดังออกไปนอกร้าน ทำเอาคนผ่านไปผ่านมาต้องเหลียวหลังหันมามอง นึกไปว่ามีคนทะเลาะกันอยู่ข้างใน

 ถ้าเปรียบทรงมวย ณ ตอนนี้ ผู้สมัครสองค่ายใหญ่จัดว่าสูสี ต่างฝ่ายต่างมั่นใจว่าผู้สมัครฝั่งของตนจะเป็นผู้กำชัย จึงเกิดการพนันขันต่อในวงสนทนากลางสภากาแฟแห่งนี้ไปโดยปริยาย
 ในที่สุดก็มีเสียงจาก "เจ้ามือ” หัวใส ที่เงี่ยหูฟังการวิวาทะของชาวบ้านสองฝ่ายในร้านน้ำชา จึงได้เสนอ ช่องทางการพนันขันต่อในรูปแบบที่เรียกว่า “หวยผู้แทน"
 แม้การออกหวยผู้แทนจะไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งในสนามเล็ก หรือสนามใหญ่ “หวยเถื่อน” ลักษณะนี้ก็ปรากฎให้ได้ยินเป็นข่าวมานานแล้ว และที่สำคัญการตามจับกุมคอหวยก๊วนนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียด้วย
 คอการเมืองถิ่นสะตอรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า ด้วยวัฒนธรรมของคนปักษ์ใต้ที่มีร้านน้ำชาเป็นจุดนัดพบยามเช้า-ค่ำ ทำให้ก่อเกิดกลุ่มคอการเมืองขึ้น ซึ่งเคี่ยวไปด้วยการติดตามเนื้อหาสาระและวิชามารทางการเมือง ก่อตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้การเมืองที่ถูกจัดอยู่ในหมวด "เงินซื้อเสียงไม่ได้" กระทั่งเมื่อมีคนหัวหมอคิดวิธีเลี่ยงบาลี "ไม่ซื้อเสียงแต่ซื้อหวย" ขึ้นมาในรูปแบบ "หวยผู้แทน" โดยเจ้ามือส่วนใหญ่ไม่ใช่ใครที่ไหนคือกลุ่มหัวคะแนน หรือผู้สนับสนุนผู้ลงสมัครนั่นเอง
 หวยผู้แทน มักปรากฎให้ได้ยินเป็นข่าวถี่ในช่วงโค้งสุดท้ายการเลือกตั้งซึ่งผู้ออกหวย หรือเจ้ามือรับแทงหวย ส่วนใหญ่อาจเป็นเครือข่ายของหัวคะแนนหรือกลุ่มเจ้ามือหวยทั่วไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแข่งขันทางการเมืองในพื้นที่นั้น
 โดยล่าสุดพื้นที่ซึ่งเริ่มมีกระแสการเล่นหวยผู้แทนกันมันมือ มักกระจายอยู่ตามพื้นที่ภาคใต้ตอนบนไม่ว่าจะเป็นสนามการเมืองใหญ่ เช่น นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต
 ว่ากันว่า การออกหวยผู้แทนนั้น จะมีอยู่ 2 ลักษณะ คืออย่างแรกจะให้คอหวย หรือชาวบ้านซื้อหวยซึ่งเป็นหมายเลขผู้สมัครที่ต้องการให้ชนะการเลือกตั้ง โดย "เจ้ามือ" จะจ่ายเงินเมื่อมีการรับรองผลการเลือกตั้ง ซึ่งรูปแบบนี้จะมีผลต่อการลงคะแนนเสียงโดยตรงเพราะบรรดาผู้แทงหวยต่างเก็งจะ ให้หมายเลขที่ซื้อไว้เป็นผู้ชนะจึงมุ่งเทคะแนนให้กับผู้สมัครหมายเลขดัง กล่าว ซึ่งหมายถึงการเกณฑ์ การระดม หรือการแกมบังคับให้ญาติพี่น้อง วงษาคณาญาติมาร่วมลุ้นด้วย
 ส่วนอีกรูปแบบนั้นเจ้ามือจะเปิดให้คอหวยแทงหมายเลขของผู้สมัครที่เป็น รอง ด้วยเป้าประสงค์ที่จะเพิ่มคะแนนเสียงให้กับมวยรองพลิกแซงชนะตัวเต็ง
 ที่สำคัญแรงดึงดูดให้คอหวยเหล่านี้สืบเท้าเข้าสู่วงจรที่ขัดขวางหนทางไป สู่การเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั่นคือ อัตราค่าตอบแทน หรือราคาราต่อรองที่ยั่วน้ำลายชาวบ้านกลุ่มฐานคะแนนเสียงสำคัญในแต่ละ พื้นที่ เพราะผลตอบแทนมากเท่าใดก็ยิ่งจูงใจให้ชาวบ้านกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้ อยู่เบื้องหลังมากยิ่งขึ้น
 “เชื่อเถอะว่าการเล่นหวยลักษณะนี้ไม่ว่าคุณจะเลือกแทงข้างไหน ท้ายที่สุดแล้วผลประโยชน์ไม่ได้ตกอยู่กับชาวบ้านแน่นอน แถมมีความเสี่ยงที่จะถูกนักเลือกตั้งบางคนฉวยโอกาสถอนทุนคืน เมื่อได้เข้าไปนั่งในสภาด้วยซ้ำไป”คอการเมืองถิ่นสะตอคนหนึ่ง กล่าวย้ำ
... นี่กระมัง ประชาธิปไตยแบบไทยๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น